คำถามที่ถามบ่อย (FAQ)


2019-09-16 15:03

page's view : 179

  • โยคะคืออะไร

    คำว่าโยคะ (แปลว่าเข้าร่วมหรือรวมกันในภาษาอังกฤษ)แปลตามตัวอักษรว่า “การวมเป็นหนึ่ง” หรือ “การเชื่อมต่อ” โยคะคือสภาวะแห่ง “การวมเป็นหนึ่ง” ระหว่างจิตวิญญาณแห่งปัจเจกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือการเชื่อมต่อระหว่างสติรู้ของเรากับพลังที่ไร้ขอบเขตที่สร้างจักรวาลนี้ขึ้นมา ดังนั้นโยคะคือระดับของสติรู้ที่ได้รับแสงสว่าง เทียบได้กับการตระหนักรู้ในตนเองในศาสนาพุทธ

    การรู้แจ้งหรือการรวมเป็นหนึ่ง(โยคะ)ที่แท้จริงนี้เกิดขึ้นเมื่อพลังศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่ากุณฑลินีซึ่งสถิตอยู่ตรงกระดูกใต้กระเบนเหน็บ(เหนือก้นกบ)ในร่างกายของมนุษย์ทุกรูปนามถูกปลุกให้ตื่นขึ้นและเดินทางขึ้นมาสู่บริเวณกระหม่อมของผู้ปฏิบัติและเปิดศูนย์พลังงานหรือจักรสุดท้ายที่มีชื่อว่าจักรสหัสราระออก นี่คือเป้าหมายสูงสุดแห่งโยคะที่จะนำมาซึ่งปิติสุขภายใน ความสงบสันติภายใน การผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์แบบและความกลมกลืนสมดุล

    โยคะทางร่างกายที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายทุกวันนี้เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆของวิถีทางที่กว้างใหญ่กว่ามากในการที่จะเข้าสู่สภาวะแห่งสติรู้ที่ได้รับแสงสว่างซึ่งเรียกว่าโยคะ

  • สหจะโยคะคืออะไร

    “สหจะ”แปลตามตัวอักษรว่า “แต่กำเนิด โดยไม่ต้องพยายาม หรือ เป็นไปเองตามธรรมชาติ” สมาธิแบบสหจะโยคะช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถปลุกพลังกุณฑลินีอันศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในตัวเราได้อย่างง่ายดาย จากนั้นพลังกุณฑลินีจะบำรุงเลี้ยงและมอบแสงสว่างแก่จักรหรือศูนย์พลังงานต่างๆในร่างกาย ผลลัพธ์ก็คือผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่สามารถเข้าสู่สภาวะที่ลึกซึ้งแห่งความสงบสันติและความกลมกลืนโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆตั้งแต่ครั้งแรกๆของการฝึก

    กระแสของพลังกุณฑลินีสามารถรู้สึกได้อย่างชัดเจนในรูปแบบของกระแสลมเย็นเบาๆในฝ่ามือ ในกระดูกสันหลัง และ/หรือเหนือศีรษะ เราสามารถอัญเชิญพลังนี้ไปยังศูนย์พลังงานต่างๆในร่างกายได้โดยตรงเพื่อนำความกลมกลืน ความสมดุลกลับคืนมาอีกทั้งยังช่วยเพิ่มพูนความอยู่ดีมีสุขทั้งทางจิต ทางกายและทางอารมณ์

    สหจะโยคะเหมือนกับทางลัดสู่สภาวะสมาธิระดับลึกที่ทรงคุณค่า การฝึกอย่างต่อเนื่องจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติพัฒนาสติรู้แห่งความจริงในอีกระดับอันละเอียดอ่อนเพื่อที่พวกเขาจะสามารถเติบโตและมีวิวัฒนาการกลายเป็นคนที่อยู่ในความสมดุลอย่างแท้จริง สงบสุข และ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมโดยรวม

    สหจะโยคะคือประสบการณ์ที่สวยงามซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ความจริงได้ด้วยตนเองผ่านระบบประสาทส่วนกลางในร่างกาย

  • สหจะโยคะแตกต่างจากโยคะและสมาธิแบบอื่นอย่างไร

    สหจะโยคะแตกต่างจากโยคะแบบอื่นเพราะสหจะโยคะเริ่มต้นด้วยประสบการณ์แห่งการปลุกพลังศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าพลังกุณฑลินีให้ตื่นขึ้น ซึ่งก็คือเป้าหมายสูงสุดอันยากที่จะบรรลุของโยคะและสมาธิแบบอื่น การออกกำลังกายหรือโยคะทางร่างกายไม่จำเป็นอีกต่อไปเพราะพลังกุณฑลินีมีอำนาจที่จะนำความอยู่ดีมีสุขทั้งทางร่างกายและอารมณ์กลับคืนมา

    สหจะโยคะตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมาธิที่เอื้อต่อการเข้าสู่สภาวะจิตว่างซึ่งในสภาวะนี้เองที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถดูดซับประโยชน์นานาประการจากการตื่นขึ้นของพลังศักดิ์สิทธิ์ภายในได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยผ่านระบบประสาทส่วนกลางการเข้าสมาธิจึงกลายเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ทำได้ไม่ยากในชีวิตประจำวัน เต็มไปด้วยปิติสุขและฟื้นฟูพลังชีวิต

    ท่านศรีมาตาจี นิรมลาเทวี ผู้ก่อตั้งสหจะโยคะได้คิดค้นวิธีการดังกล่าวที่ช่วยให้เราสามารถเข้าสู่ปรากฏการณ์อันประเมินค่าไม่ได้แห่งการตระหนักรู้ในตนเองได้อย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ (สหจะ) และบรรลุผลในเวลาอันสั้น

    แสงสว่างเล็กๆถูกจุดขึ้นในตัวเรา (มิติใหม่แห่งสติรู้ที่เราได้รับ) และด้วยสมาธิแบบสหจะโยคะเราจะสามารถเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องบำเพ็ญตบะและยังใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมตามปกติ

    นี่เป็นเพราะภายใต้แสงสว่างของสติรู้มิติใหม่ เรากลายเป็นครูของตนเอง หลังจากได้รับการตระหนักรู้ในตนเองเราสามารถรู้สึกถึงพลังลมเย็นอันแผ่วเบาเหนือศีรษะและจากใจกลางฝ่ามือ เราสามารถรู้สึกได้ที่ปลายนิ้วว่าศูนย์พลังงานไหนของเราติดขัดบ้างและสามารถชำระล้างการอุดตันดังกล่าวโดยอาศัยพลังกุณฑลินีที่ตื่นขึ้นแล้ว นอกจากนี้เรากลายเป็นสติรู้ส่วนรวม คือเราสามารถรู้ได้ว่าศูนย์พลังงานของคนอื่นเป็นเช่นไรอีกทั้งยังรักษาเขาได้เช่นกัน ความจริงที่ว่าเราคือส่วนหนึ่งของส่วนรวมทั้งหมดกลายเป็นความจริงที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวันของเรา

    การกลายเป็นหนึ่งเดียวกับจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ที่สถิตอยู่ภายในคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตมนุษย์ ซึ่งศาสนาและสำนักจิตวิญญาณส่วนใหญ่ล้วนเห็นพ้องกันในสิ่งนี้ การตระหนักรู้ในตนเองคือจุดเริ่มต้นเพราะเมื่อการเชื่อมต่อได้สถาปนาขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเชื่อมต่อนี้จะต้องได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วยสติของเราและการนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยให้เราค้นพบว่าเราเกิดมาทำไมและเติมเต็มวัตถุประสงค์ในการมีชีวิตอยู่ของเราในที่สุด” โดยท่านศรีมาตาจี นิรมลาเทวี

  • ประโยชน์ของการนั่งสมาธิคืออะไรบ้าง

    คนที่นั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอจะตระหนักถึงมิติใหม่ในสติรู้ของตน พวกเขาจะรู้สึกถึงกระแสของพลังที่ไหลเวียนในร่างกายและในไม่ช้าสุขภาพก็จะดีขึ้นและมีความสงบภายในมากขึ้น มีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสมมากขึ้นในการใช้ชีวิต อีกทั้งยังสามารถรับมือกับความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวล ความโกรธและอารมณ์ความรู้สึกด้านลบทั้งหลายได้อย่างง่ายดาย มีงานวิจัยทางการแพทย์มากมายหลายฉบับ(โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโรคต่างๆเช่น โรคหอบหืด โรคลมบ้าหมู และโรคความดันโลหิตสูง)โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าสหจะโยคะสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตทั้งทางกายและทางจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยผู้ปฏิบัติไม่ต้องหมกมุ่นกับพฤติกรรมสุดโต่งใดๆ เป้าหมายของสมาธิแบบนี้คือช่วยให้ผู้ปฏิบัติกลายเป็นสมาชิกของสังคมที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและความดีงาม เพราะเมื่อสมาชิกแต่ละคนกลายเป็นคนที่มีความสมดุล เต็มไปด้วยความสงบสุขและความเมตตากรุณา สังคมโดยรวมก็ย่อมจะได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย

  • ใครที่สามารถฝึกสหจะโยคะได้บ้าง

    ทุกคนสามารถฝึกได้ ไม่มีข้อจำกัดใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา อายุ หรือเพศ

  • ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร

    ไม่มีการคิดค่าสอนในการเรียนสหจะโยคะ เพราะเราไม่สามารถจ่ายเงินซื้อประสบการณ์ที่มีชีวิตและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถจ่ายเงินให้พระแม่ธรณีเพื่อให้เมล็ดพันธุ์แตกหน่อ หรือจ่ายเงินให้กระเพาะอาหารเพื่อย่อยอาหารให้กับเรา ดังนั้นสหจะโยคะในกว่า100ประเทศทั่วโลกจึงไม่มีการคิดค่าสอนใดๆตลอดไป ซึ่งผู้สอนก็คือผู้ปฏิบัติสหจะโยคะอย่างสม่ำเสมอที่ประกอบสัมมาอาชีพที่แตกต่างกันไป แต่เนื่องจากพวกเขาค้นพบความเบิกบานใจจากการแบ่งปันความรู้อันทรงคุณค่าและก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลนี้กับคนอื่นจึงสละเวลาและแรงกายแรงใจมาเป็นอาสาสมัครในการถ่ายทอดความรู้นี้ นอกจากนี้พวกเขายังรู้สึกว่าตนได้รับประโยชน์เหลือคณานับในชีวิตทุกด้านจากการปฏิบัติ จึงปรารถนาจะแบ่งปันความสุขนี้กับผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน การเรียนการสอนส่วนใหญ่จึงมักเกิดขึ้นในช่วงเย็นหลังเลิกงานหรือในวันหยุดสุดสัปดาห์ หากผู้ใดประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อช่วยค่าเช่าห้องโรงแรมหรือค่าจัดทำเอกสารก็สามารถทำได้แต่จะไม่มีการเรียกร้องหรือบังคับใดๆ เพราะมูลนิธิสหจะโยคะแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร

  • ฉันจะสามารถเป็นสมาชิกของสหจะโยคะได้หรือไม่

    ทุกคนสามารถมาฝึกสหจะโยคะได้ เรายินดีต้อนรับทุกคน

  • ต้องฝึกนานเท่าไรจึงจะเริ่มเห็นผล

    คนส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการตื่นขึ้นของพลังกุณฑลินีในร่างกายตั้งแต่ช่วงแรกๆของการฝึก ซึ่งจะแสดงออกในรูปแบบของลมเย็นอันแผ่วเบาในฝ่ามือทั้งสอง เหนือศีรษะ และสำหรับคนที่มีความละเอียดอ่อนยังสามารถรู้สึกที่แนวกระดูกสันหลังอีกด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้นคือคนที่มาฝึกเป็นครั้งแรกส่วนใหญ่สามารถสัมผัสกับความสงบสุขที่ลึกซึ้งหลังจากการนั่งสมาธิเพียง15-20 นาทีเท่านั้น

    คนบางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นเล็กน้อยแต่โดยส่วนใหญ่หลังจากที่ฝึกอย่างสม่ำเสมอ(20 นาทีต่อวัน) เป็นเวลาเพียงหนึ่งเดือน ผู้เริ่มปฏิบัติจะสามารถรู้สึกถึงพลังได้อย่างชัดเจนและรับรู้ถึงบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในด้านบวกของตน อีกทั้งยังรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ อารมณ์เบิกบานแจ่มใสและยังกระปรี้กระเปร่าเต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

  • จะสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้านโดยไม่ต้องเข้ากลุ่มได้หรือไม่

    การนั่งสมาธิอาจฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ แค่หลับตาและพยายามทำจิตให้สงบปราศจากความคิด แต่ในทางปฏิบัติทุกคนรู้ดีว่าการเข้าสภาวะสมาธิไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสมองและอารมณ์ของมนุษย์นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้เริ่มฝึกจะสามารถปฏิบัติด้วยตนเองตามลำพัง ดังนั้นหากปราศจากการแนะแนวทางที่เหมาะสมผู้เริ่มฝึกจะไม่สามารถได้รับผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร

    เพื่อที่เราจะก้าวหน้าในการฝึกฝนแขนงใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การทำงานศิลปะหรือแม้แต่กิจกรรมด้านการพัฒนาทางจิตวิญญาณก็ตาม การเรียนรู้หลักการพื้นฐานภายใต้การดูแลอย่างเหมาะสมจากผู้ปฏิบัติที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมีความสำคัญมาก การเข้าเรียนสัปดาห์ละครั้งจะช่วยวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ผู้เริ่มฝึกทั้งในทางปฏิบัติและทางทฤษฎีรวมทั้งเทคนิคที่หลากหลายที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ฝึกแต่ละคน

    นอกจากนี้เมื่อสหจะโยคีมารวมตัวกันเพื่อนั่งสมาธิพลังงานด้านบวกที่ไหลเวียนในกลุ่มจะยิ่งมากขึ้นเนื่องจากสหจะโยคีแต่ละคนต่างก็มีกระแสพลังด้านบวกที่ไหลรินออกมาพอมารวมตัวกันกระแสพลังโดยรวมจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เปรียบเหมือนการจุดเทียนพร้อมกันหลายเล่มในห้องมืด ยิ่งมีจำนวนเทียนมากขึ้นเท่าไรแสงสว่างก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น ความมืดในห้องก็จะหมดสิ้นไป เช่นเดียวกับที่กระแสพลังโดยรวมของการนั่งสมาธิเป็นกลุ่มจะส่งผลดีต่อทุกคนในรูปแบบของการเข้าสู่ประสบการณ์ที่ชัดเจนและแรงมากขึ้น กระบวนการแบบกลุ่มเช่นนี้คือหนึ่งในกุญแจสู่การเติบโตทางจิตวิญญาณที่แข็งแรงมั่นคง นี่จึงเป็นเหตุผลที่แม้แต่ผู้ที่ปฏิบัติมายาวนานนับสิบปีก็ยังคงเต็มใจที่จะมานั่งสมาธิด้วยกันทุกสัปดาห์

  • จะต้องเรียนกี่คอร์สจึงจะกลายเป็นผู้ปฏิบัติที่เชี่ยวชาญ

    คอร์สความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ใช้เวลาประมาณ10สัปดาห์ๆละ2ชั่วโมง เมื่อจบคอร์สคุณจะมีความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับคุณสมบัติที่แตกต่างกันของแต่ละจักร การสร้างความสมดุลให้กับพลังของตนเองเพื่อสุขภาพจิตและกายที่ดีขึ้น การใช้พลังเพื่อช่วยรักษาคนอื่นและที่สำคัญที่สุดคือคุณจะสามารถเข้าสภาวะสมาธิที่ลึกได้

    อย่างไรก็ตามนับเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมากหากจะเชื่อว่าเมื่อจบคอร์สสั้นๆนี้แล้วคุณจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ สหจะโยคะคือหนทางสู่การรู้แจ้งโดยสมบูรณ์ที่เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตและเป็นถนนที่ยาวไกลแห่งการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง เป้าหมายสูงสุดของสหจะโยคะคือรูปธรรมของการรวมเป็นหนึ่งกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสภาวะ “โพธิญาณ” ดังนั้นสำหรับสหจะโยคีการนั่งสมาธิถือเป็นกิจวัตรประจำวันทั้งตอนเช้าและตอนเย็นเพื่อดำรงสภาวะแห่งความสมดุลทั้งทางอารมณ์และร่างกายและที่สำคัญที่สุดคือเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาตนเองเพื่อกลายเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น ในแต่ละวันที่ผ่านไปผู้ปฏิบัติจะยิ่งเข้าใจตนเองได้มากขึ้น เข้าสู่ความปิติสุขที่มาจากจิตวิญญาณของตนเองได้มากขึ้น และค่อยๆพัฒนาศักยภาพของตนเองในฐานะมนุษย์จนบรรลุถึงจุดสูงสุด

  • จะมีการบังคับหรือกดดันใดๆหรือไม่หลังจากที่เริ่มฝึก

    หลักการของสหจะโยคะคือการสนับสนุนให้ทุกคนกลายเป็นครูของตนเอง เราสนับสนุนให้ทุกคนตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะฝึกฝนต่อหรือจะหยุด วิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้เริ่มฝึกคือการคิดว่านี่คือการทดลองส่วนตัวของคุณ ลองพยายามอย่างจริงใจที่จะมานั่งสมาธิที่กลุ่มและนั่งเองที่บ้านสักสองสามสัปดาห์แล้วประเมินตนเองว่าคุณได้รับประโยชน์อะไรบ้าง สหจะโยคะไม่ได้เรียกร้องให้ใครเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ตรงของตน ไม่มีความงมงายและความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์ในสหจะโยคะ

  • สหจะโยคะเป็นศาสนาหรือไม่

    สหจะโยคะไม่ใช่องค์กรทางศาสนาแต่อย่างใด แต่สหจะโยคะรวมแก่นแท้ของทุกศาสนาเข้าด้วยกันผ่านการรับรู้ความจริงแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันละเอียดอ่อนด้วยประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติ ดังนั้นผู้ฝึกสหจะโยคะทั่วโลกจึงประกอบด้วยคนที่มีพื้นฐานทางศาสนาที่หลากหลาย (พุทธ คริสต์ ฮินดู อิสลาม ฯลฯ) นอกจากผู้ปฏิบัติจะเข้าใจและเข้าถึงศาสนาของตนได้ลึกซึ้งขึ้นพวกเขายังสามารถเข้าใจและเข้าถึงศาสนาอื่นๆได้อีกด้วย ในท้ายที่สุดสหจะโยคีเคารพทุกศาสนาและธรรมเนียมปฏิบัติทางจิตวิญญาณทั้งหมด

    ใครก็ตามที่ได้รับการตระหนักรู้ในตนเอง (โดยปราศจากความพยายามใดๆด้วยสหจะโยคะ) สามารถสัมผัสกระแสลมเย็นของพลังกุณฑลินี (ตามคัมภีร์พระเวท) ในระบบประสาทส่วนกลาง ตามแนวกระดูกสันหลัง ในฝ่ามือและเหนือกระหม่อมการตระหนักรู้หรือการรู้แจ้งในตนเองคือปรากฏการณ์ที่มอบประสาทสัมผัสในมิติที่เหนือกว่าเพื่อช่วยให้คนสามารถรับมือกับชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น การปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมนี้คือแก่นของคำสอนในสหจะโยคะ ผู้ฝึกจะค่อยๆพัฒนาการรับรู้และสติรู้อันใหม่เนื่องจากศักยภาพในการเข้าใจสิ่งต่างๆผ่านกระหม่อมที่ถูกเปิดออกนั้นเพิ่มมากขึ้น เหมือนกับในตัวเราทุกคนมีการติดตั้งเรดาร์ที่รอการเปิดสวิตช์อยู่ภายในเมื่อเรดาร์นี้ถูกกระตุ้นให้ทำงานก็จะเอื้อให้คนๆนั้นพัฒนาการดำเนินชีวิตของตนให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องไม่หลงทาง

  • ท่านศรีมาตาจีคือใคร

    ท่านศรีมาตาจีนิรมลาเทวีคือผู้ก่อตั้งสหจะโยคะขึ้นในปีพ.ศ.2513 นับจากนั้นเป็นต้นมาท่านได้บรรยายธรรมไปแล้วนับพันๆครั้งและสั่งสอนผู้คนนับล้านๆให้เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคของสหจะ

    ท่านศรีมาตาจีถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ.2466 ในครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์และเป็นหนึ่งในราชสกุลที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินเดีย ท่านเคยศึกษาวิชาแพทย์ก่อนที่จะกลายเป็นนักศึกษาผู้มีบทบาทโดดเด่นในขบวนการปลดปล่อยอินเดียของมหาตมะคานธี ในช่วงเวลานั้นท่านเคยต้องโทษจำคุกและถูกทรมาณจากพวกอังกฤษ

    ในปีพ.ศ. 2492 ท่านสมรสกับเซอร์ ซีพี ศรีวาสตาวะนักการทูตผู้มีอนาคตไกลซึ่งต่อมาท่านได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศถึง16สมัยติดต่อกัน เซอร์ ซีพี ศรีวาสตาวะมิได้เป็นเพียงข้าราชการอินเดียที่ได้รับการยกย่องสูงสุดเท่านั้นแต่ยังเป็นชาวอินเดียคนแรกที่ได้รับพระราชทานยศ“เซอร์”จากสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่สองแห่งอังกฤษเนื่องจากคุณงามความดีของท่านที่มีต่อองค์การสหประชาชาติ

    ท่านศรีมาตาจีดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างเรียบง่าย ท่านมีลูกมีหลานและมีเหลน ท่านคือร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัวและหลักยึดทางคุณธรรมจริยธรรมอย่างแท้จริง

    ท่านเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล

    ท่านศรีมาตาจีได้รับการยกย่องเชิดชูไปทั่วโลกในเรื่องของการอุทิศตนอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของท่านที่มีต่อการพัฒนาสังคมและสันติสุขของโลก ท่านก่อตั้งองค์กรมากมายเพื่อรับใช้สังคมและชุมชนรวมทั้งโรงพยาบาลนานาชาติและศูนย์วิจัยโรคมะเร็งที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย สถานสงเคราะห์คนยากไร้ที่เมืองเดลลี ศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่ประเทศอิตาลี ฯลฯ

    ท่านได้รับรางวัลและการยกย่องจากทั่วโลก อาทิ

    พ.ศ.2529: รางวัลเกียรติยศ”บุคลิกภาพแห่งปี” จากรัฐบาลอิตาลี

    พ.ศ. 2532: รางวัลเหรียญสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ (The 1989 UN Peace Medal)

    พ.ศ.2536:ได้รับการสถาปนาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์จากคณะกรรมการบริหารที่มีอำนาจเต็มแห่งสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งเปรโตฟสกาโดยในประวัติศาสตร์ของสถาบันมีเพียง12คนเท่านั้นที่ได้รับเกียรตินี้และหนึ่งในนั้นคือโรเบิร์ต ไอสไตน์

    พ.ศ.2538: ท่านศรีมาตาจีได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมนานาชาติระดับสูงหลายครั้งเช่น ในการประชุมระดับโลกเพื่อผู้หญิงครั้งที่สี่ขององค์การสหประชาชาติที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐปะชาชนจีน ท่านได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่องหนทางสู่สันติภาพ

    พ.ศ.2541: รางวัล Unity award เพื่อความเข้าใจระดับนานาชาติโดย Unity International Foundation

    จากประสบการณ์ของสหจะโยคีคนหนึ่งที่เคยตั้งคำถามว่าท่านศรีมาตาจีคือใคร

    “*ผมจำได้ดีว่าในตอนเช้าของวันที่อากาศดีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2518 ผมกำลังนั่งอยู่ในรถไฟสายชานเมืองที่วิ่งระหว่างเฮิร์สกรีนและลอนดอน ท่านศรีมาตาจีนั่งอยู่เบื้องหน้าผม เมื่อวานนี้ผมใช้เวลาอยู่ที่บ้านของท่านโดยวันนั้นเป็นวันที่น่าทึ่งและยากที่จะเข้าใจเพราะผมเพิ่งได้รับประสบการณ์แห่งสติรู้ในมิติที่มอบความปิติสุขที่อยู่เหนือคำบรรยาย ผมงุนงงและถามออกไปดื้อๆว่า “ท่านศรีมาตาจี ท่านคือใครกันแน่ครับ” ท่านตอบผมว่า “เปิดมือออก หลับตาลง และถามอีกครั้ง” ท่านกำลังแนะนำให้ผมถามคำถามนี้ผ่านสภาวะสมาธิ ผมทำตาม และไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไร ผมลืมตาขึ้นอีกครั้ง ท่านยิ้มและถามผมว่าเป็นอย่างไร ผมตอบท่านว่า “ไม่มีอะไรเลยครับ มีเพียงความเงียบ” ท่านพูดว่า “แม่คือความเงียบ” แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของวันต่อจากนั้นผมรู้สึกเบาเหลือเกินจนผมต้องดูให้แน่ใจว่าเท้าของผมกำลังแตะพื้นดินอยู่ ผมช่างรู้สึกปลาบปลื้มอิ่มเอมใจตลอดการซื้อของในลอนดอน สภาวะแห่งสติรู้ที่สูงกว่านี้ถูกบันทึกลงในระบบประสาทส่วนกลางของผมและไม่มีอาจมีข้อกังขาใดๆ ผมรู้สึกได้โดยตรงด้วยตัวเอง

    ดังนั้นสำหรับคำถามว่า “ท่านศรีมาตาจีคือใคร” คำแนะนำของเราก็คือจงเข้าสมาธิให้ลึกด้วยเทคนิคที่หลากหลายของสหจะโยะที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลแล้วคุณจะได้พบคำตอบด้วยตัวของคุณเอง*”

    • เกรกัวร์ เดอ คาลเบอร์มาทเทน

มูลนิธิสหจะโยคะเป็นมูลนิธิที่ซึ่งไม่ได้แสวงหาผลกําไรและอุทิศตนเพื่อการพัฒนาตนเองเพื่อการตระหนักรู้ภายในตนเองโดยวิธีการนั่งสมาธิแบบสหจะโยคะ เราปราถนาให้ผู้ฝึกสมาธิได้เข้าถึงความปิติสุข ความเป็นหนึ่งเดียว และเพื่อให้ผู้ฝึกสมาธิได้ค้นพบตัวตนภายใน ความปิติสุขเบิกบาน ความรัก ความเมตตากรุณา และเข้าถึงแก่นแท้ของสัจธรรมโดยการนั่งสมาธิแบบ "สหจะโยคะ"